วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ออมแล้วไม่อด จดแล้วไม่จน

ออมแล้วไม่อด จดแล้วไม่จน

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
อาจารย์ประจำโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต
มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน



ปัญหาเงินหมุนเวียนในครอบครัวไม่เพียงพอ หรือที่โบราณท่านว่าเป็นครอบครัวที่ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวถกเถียงทะเลาะกัน สามีทะเลาะกับภรรยา พ่อแม่ทะเลาะกับลูก เพราะจัดการกับทรัพยากร(เงิน)ที่มีจำกัดไม่ลงตัว ฝ่ายภรรยาก็โทษสามีว่าที่เงินไม่พอใช้เพราะเขาใช้เงินไปดื่มเหล้าเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูงมากเกินไป ฝ่ายสามีก็โทษว่าภรรยาใช้เงินไปกับเสื้อผ้าเครื่องสำอางและแทงหวยมากเกินไป แล้วทั้งคู่ก็หันมาโทษลูกๆ ว่าเสียเงินไปกับค่าโทรศัพท์มือถือมากเกินไป


ปัญหาเงินหมุนเวียนในครอบครัวไม่เพียงพอเกิดขึ้นจากการที่เงินจ่ายออกไปมากกว่าเงินที่รับเข้ามา


ปัญหานี้แก้ได้ หากสมาชิกในครอบครัวทุกคนหยุดโทษกัน หันหน้ามาสารภาพแก่กันและกัน และต่างตั้งใจว่าฉันจะค่อยๆ ลดลงแล้วนะ มาจับเข่าคุยกัน ร่วมด้วยช่วยกันคิดช่วยกันวางแผนงบประมาณครอบครัว ช่วยกันทำบัญชีบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง การทำอะไรอย่างมีการใช้ความคิด มีการวางแผน มีการจัดการย่อมดีกว่าไม่คิดไม่วางแผนไม่จัดการ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน อันเป็นปัจจัยหนึ่ง (แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว) ของชีวิตครอบครัวที่มีความสุข


ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำบางประการในการทำแผนประมาณการงบกระแสเงินสด (เงินเข้า-เงินออก) ของครอบครัว
1. เริ่มด้วยการสำรวจเงินสด เงินฝาก เงินออม และหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด
2. ทำประมาณรายรับ ทั้งรายวัน รายเดือน รายฤดูกาล รายปี รายพิเศษ ทั้งหมดขึ้นมา
3. ตั้งเป้าหมายการออมสำหรับเป็นเงินสำรองกรณีฉุกเฉินประมาณ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นของรายได้ รวมทั้งการออมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อซื้อของบางอย่าง ซี่งก็คงเป็นสิ่งที่ใหญ่โตพอสมควรจึงต้องออมเป็นระยะเวลาหนึ่งถึงจะซื้อได้ เรื่องการออมอย่างมีจุดมุ่งหมายนี้เป็นเทคนิคที่อาจารย์เอ็นนู ซื่อสุวรรณ แนะนำ โดยท่านให้เหตุผลว่า หากออมอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายอาจทำให้เลิกกลางคันได้ง่าย ท่านยังได้แนะนำอีกว่า ควรออมอย่างมีพยานรู้เห็นด้วย อย่างกรณีของท่านก็ออมเป็นทุนการศึกษาให้ลูก พอเดือนไหนลืมหรือช้าไปหน่อย ไม่ได้เอาเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์เพื่อการศึกษา ลูกก็จะมาทวง
4. แยกแยะค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือน รายปี รายฤดูกาล และรายโอกาสต่างๆ ขึ้นมาว่ามีอะไรบ้าง
5. จดทั้ง 4 ข้อข้างต้นลงในกระดาษที่ทำเป็นตาราง แนวตั้งเป็นรายการรายรับ-การออม-รายจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น แนวนอนเป็นช่องระยะเวลา โดยอาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ตัวอย่างที่แนบมาเป็นแผนรับ-จ่ายเป็นรายเดือน แต่นักศึกษาอาจดัดแปลงได้ตามความเหมาะสมสอดคล้องของตัวเอง
6. หมั่นทบทวนและปรับปรุงแผนเป็นระยะๆ โดยเทียบกับตัวเลขที่ได้จากการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนอย่างง่ายที่มีเพียงวันเดือนปีที่เกิดรายรับ-รายจ่าย รายการที่เกิด และจำนวนเงิน


การทำเช่นนี้ จะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งปีว่าเงินเรามาจากทางไหนและออกไปทางไหนบ้าง ถ้าเป็นไปตามนั้นถึงสิ้นปีงบประมาณที่ทำ จะมีเงินออมเกิดขึ้นเท่าไร หากมีหนี้สินที่ต้องใช้ ได้ใช้ไปเท่าไร มีเงินเหลือหรือติดลบเท่าไร หากเห็นชัดๆ ว่าจะติดลบ จะตัดหรือลดค่าใช้จ่ายอะไรลงได้บ้าง ที่สำคัญคือต้องเอาค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น (จากการจดบัญชี) มาเทียบกับแผนประมาณการรายรับ-รายจ่ายนี้อยู่เสมอ และปรับปรุงอยู่เสมอ


ตัวอย่างแผนงบประมาณครอบครัวท้ายบทความนี้ แสดงว่านายคำและนางจันเริ่มจากการนำยอดเงินสดคงเหลือที่ถืออยู่มาลงไว้ก่อน ตรงนี้หากเป็นยอดติดลบจากการยืมเงินระยะสั้นก็อาจใส่เป็นเลขติดลบไว้ เพื่อจะดูว่าถึงสิ้นปีจะน้อยลงได้แค่ไหนหรือหมดไป จากนั้นก็เป็นรายการรายรับที่คาดว่าจะได้ในแต่ละเดือน เช่น มีที่ดินหรือบ้านอีกหลังให้คนเช่า หรือจากการเก็บผลผลิตบางอย่างขาย หรือการรับจ้างทำงานพิเศษบางอย่าง ต่อมาก็เป็นประมาณการด้านการออม


ส่วนล่างของตารางเป็นการประมาณการรายจ่ายซึ่งครอบครัวนี้แบ่งเป็นรายจ่ายประจำปีและที่อาจมีระหว่างปี รายจ่ายประจำเดือน และรายจ่ายประจำวัน


หากสังเกตดูในตารางตัวอย่างนี้จะเห็นว่าครอบครัวนายคำ-นางจันมีหนี้สินบางอย่าง และผ่อนชำระเดือนละ 800 บาท ถึงสิ้นปีก็หมด ในขณะที่มีการออมเดือนละ 1,000 บาท มากกว่าชำระหนี้ กรณีที่เรามีหนี้สินมากอาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการชำระหนี้มากกว่าการออม จนกว่าหนี้จะหมดหรือเบาบางลง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหนี้มากเพียงไรก็ขอแนะนำให้กันส่วนหนึ่งแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีเป็นเงินออมไว้ยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะตกต่ำลงอันเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมันในขณะนี้ คำว่า ออมแล้วไม่อด จดแล้วไม่จน เป็นคาถาที่ใช้ได้จริงตลอดทุกยุคทุกสมัย


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อแนะนำเบื้องต้นที่ทุกครอบครัวสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก บริษัทที่เขาทำการค้าทำธุรกิจทุกแห่งเขาต้องทำแผนการเงินและบัญชีที่ซับซ้อนมากกว่านี้ อีกทั้งกฎหมายบังคับให้เขาต้องทำบัญชีด้วย บัญชีเป็นเครื่องมือช่วยให้เขาสามารถประสบความสำเร็จทางการเงินด้วย


บุคคลหรือครอบครัวที่ทำแผนงบประมาณครอบครัวและบัญชีครัวเรือนแล้วก็จะประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น